หลักการจัดองค์ประกอบทางทัศนศิลป์

หลักการจัดองค์ประกอบทางทัศนศิลป์
               หลักการจัดองค์ประกอบทางทัศนศิลป์ (Composition)  คือ  การนำเอาทัศนะธาตุ  ได้แก่  จุด  เส้น  รูปร่าง  รูปทรง  น้ำหนักอ่อนแก่  บริเวณว่าง  สี  และพื้นผิว  มาจัดประกอบเข้าด้วยกันจนเกิดความพอดี  เหมาะสม  ทำให้งานศิลปะชิ้นนั้นมีคุณค่าอย่างสูงสุด   ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
               1.  เอกภาพ (Unity)
                     การรวมกลุ่มก้อน ไม่แตกแยกกระจัดกระจายไปคนละทิศทางจนทำให้ขาดความสัมพันธ์กัน  ในทางทัศนศิลป์เอกภาพยังเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงเนื้อหาเรื่องราวที่ต้องการแสดงอย่างชัดเจนด้วย
               2.  ความสมดุล (Balance)
                     2.1  ความสมดุลของสิ่งที่ซ้ำหรือเหมือนกัน  (Symmetrical)  คือ เป็นการนำเอาส่วนประกอบที่มีรูปลักษณะเหมือนกัน  มาจัดองค์ประกอบรวมเข้าด้วยกันให้ประสานกลมกลืน เกิดการถ่วงน้ำหนักขององค์ประกอบส่วนต่าง ๆ ในลักษณะที่พอเหมาะพอดีจนรู้สึกว่ามีความสมดุล   อาจด้วยการจัดวางตำแหน่ง
ที่ตั้ง  ช่องไฟ  ระยะห่าง  อัตราจำนวน  ขนาดรูปร่าง  น้ำหนักอ่อนแก่  ฯลฯ  ที่เหมือนกันหรือเท่า ๆ กันจนเกิดเป็นเอกภาพเดียวกัน
                     2.2  ความสมดุลของสิ่งที่ขัดแย้งหรือต่างกัน  (Asymmetrical)   เป็นการนำเอาส่วนประกอบที่มีรูปลักษณะที่ต่างกันหรือขัดแย้งกัน   มาจัดองค์ประกอบเข้าด้วยกันให้ประสานกลมกลืนกัน   เกิดการถ่วงน้ำหนักขององค์ประกอบส่วนต่าง ๆ  ในลักษณะที่พอเหมาะพอดีจนรู้สึกว่ามีความสมดุล  โดยที่วัตถุหรือเนื้อหาในภาพไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
               3.  จุดสนใจหรือการเน้น (Emphasis)
                     ส่วนที่สำคัญที่สุดของภาพที่ต้องการแสดง   ซึ่งนำไปสู่การบอกเล่าเนื้อหาของภาพทั้งหมดหรือเป็นจุดที่ดึงดูดความสนใจให้มอง  ในทางทัศนศิลป์จุดสนใจควรมีเพียงจุดเดียว  ซึงอาจเป็นส่วนที่แสดงความสำคัญหรือมีสีสันสดใสที่สุด  นอกจากนั้นยังเน้นให้เกิดจุดสนใจด้วยการสร้างความแตกต่างขึ้นในภาพ   จุดสนใจไม่จำเป็นจะต้องอยู่จุดกึ่งกลางเสมอไป  อาจอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพก็ได้
               4.  ความกลมกลืน (Harmony)
                     เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการจัดองค์ประกอบทางทัศนศิลป์  เพราะความกลมกลืนจะทำให้ภาพงดงาม และนำไปสู่เนื้อหาเรื่องราวที่นำเสนอ  ความกลมกลืนมี  2  แบบ  คือ
                     4.1  ความกลมกลืนแบบคล้อยตามกัน  หมายถึง  การนำรูปร่าง  รูปทรง  เส้น หรือสี  ที่มีลักษณะเดียวกันมาจัด  เช่น  วงกลมทั้งหมด  สี่เหลี่ยมทั้งหมด  ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีขนาดที่แตกต่างกัน  แต่เมื่อนำมาจัดเป็นภาพขึ้นมาแล้วก็จะทำให้ความรู้สึกกลมกลืนกัน
                     4.2  ความกลมกลืนแบบขัดแย้ง  หมายถึง  การนำเอาองค์ประกอบต่างชนิด  ต่างรูปร่าง  รูปทรง  ต่างสี  มาจัดวางในภาพเดียวกัน  เช่น  รูปวงกลมกับรูปสามเหลี่ยม  เส้นตรงกับเส้นโค้ง  ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น แต่ก็ยังให้ความรู้สึกกลมกลืนกัน
               5.  จังหวะ (Rhythm)
                     ระยะในการจัดภาพหรือการวางของวัตถุ  ซ้ำไปซ้ำมา อย่างสม่ำเสมอ  เช่น  ลายไทย  การปูกระเบื้อง หรือการแปรอักษร  เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น