องค์ประกอบศิลป์และทางทัศนศิลป์

 องค์ประกอบศิลป์  


     องค์ประกอบศิลป์และทางทัศนศิลป์  หมายถึง  การนำส่วนประกอบต่าง  ของทัศนธาตุต่าง  เช่น  จุด  เส้น  รูปร่าง  รูปทรง  ขนาด  สัดส่วน  แสงเงา  สี  ช่องว่าง  และลักษณะผิว  มาสร้างสรรค์เป็นผลงาน การเรียนรู้องค์ประกอบศิลป์จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทุกแขนงเพื่อให้เกิดความงามหรือสื่อความหมายทางศิลปะได้ เช่น
 1.  เอกภาพ  (Unity)
 2.  ความสมดุล  (Balance)               
 3.  จังหวะ จุดเด่น  (Dominance)              
 4.  ความกลมกลืน  (Harmony)           
 5.  ความขัดแย้ง  (Contrast)
 6. ขนาด สัดส่วน (Size  Proporty)

   1.  จุด (Point)   เป็นองค์ประกอบที่สามารถสัมผัสและรับรู้ได้น้อย  แต่ในทางศิลปะจุด ๆ หนึ่งที่ปรากฏในภาพอาจจะค่อย ๆ ขยายใหญ่ในความรู้สึกแปรเปลี่ยนเป็นรูปสัญลักษณ์สิ่งต่าง ๆ  เช่น  การนำเอาจุดมาแทนสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในระยะหนทางที่ห่างไกล  เช่น  ดวงดาว  แสงไฟ  ฯลฯ   การตีความในจินตนาการอาจขยายกว้างใหญ่กว่าการรับรู้หลายเท่า และมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปได้อย่างไม่สิ้นสุด





    2.  เส้น (Line)  เส้นตรง  เส้นโค้ง  เส้นซิกแซก  เส้นขยุกขยิก  เป็นต้น  ซึ่งเส้นที่ปรากฏในลักษณะที่ต่างกันก็จะมีอิทธิพลที่สามารถกระตุ้นเร้าความรู้สึกจากการรับรู้ให้แตกต่างกันออกไป

   3.  รูปร่างและรูปทรง (Shape & Form)
                    รูปร่าง (Shape)  คือ รูปแบน ๆ มี 2 มิติ มีความกว้างกับความยาวไม่มีความหนาเกิดจากเส้นรอบนอกที่แสดงพื้นที่ขอบเขตของรูปต่าง ๆ เช่น รูปวงกลม  รูปสามเหลี่ยม หรือ รูปอิสระที่แสดงเนื้อที่ของผิวที่เป็นระนาบมากกว่าแสดงปริมาตรหรือมวล
                    รูปทรง (Form)  คือ รูปที่ลักษณะเป็น 3 มิติ โดยนอกจากจะแสดงความกว้าง   ความยาแล้ว ยังมีความลึก หรือความหนา นูน ด้วย   เช่น รูปทรงกลม  รูปทรงสามเหลี่ยม ทรงกระบอก  ให้ความรู้สึกมีปริมาตร  ความหนาแน่น มีมวลสาร ที่เกิดจากการใช้ค่าน้ำหนัก หรือการจัดองค์ประกอบของรูปทรง หลายรูปรวมกัน
                    ความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรง  เมื่อนำรูปทรงหลาย ๆ รูปมาวางใกล้กัน  รูปเหล่านั้นจะมีความสัมพันธ์ดึงดูด  หรือผลักไสซึ่งกันและกัน    การประกอบกันของรูปทรงทำได้โดยใช้การนำรูปเรขาคณิต รูปอินทรีย์ และรูปอิสระ  มาซ้อนทับกัน  ผนึกเข้าด้วยกัน  แทรกเข้าหากัน หรือ รูปทรงที่บิดพันกัน นำมาประกอบเข้าด้วยกันจะได้รูปลักษณะใหม่ ๆ อย่างไม่สิ้นสุด
    4.  ค่าน้ำหนัก  (Value)  คือ  ค่าความอ่อนแก่ของบริเวณที่ถูกแสงสว่าง และบริเวณที่เป็นเงาของวัตถุหรือ ความอ่อน -  ความเข้มของสีหนึ่ง ๆ  หรือหลายสี  เช่น  สีแดง  มีความเข้มกว่าสีชมพู   หรือ   สีแดงอ่อนกว่าสีน้ำเงิน  เป็นต้น    นอกจากนี้ยังหมายถึงระดับความเข้มของแสงและระดับ ความมืดของเงา  ซึ่งไล่เรียงจากมืดที่สุด (สีดำ) ไปจนถึงสว่างที่สุด (สีขาว)  น้ำหนักที่อยู่ระหว่างกลางจะเป็นสีเทา  ซึ่งมีตั้งแต่เทาแก่ที่สุด จนถึงเทาอ่อนที่สุด 
               การใช้ค่าน้ำหนักจะทำให้ภาพดูเหมือนจริง และมีความกลมกลืน    ถ้าใช้ค่าน้ำหนักหลาย ๆ  ระดับ  จะทำให้มีความกลมกลืนมากยิ่งขึ้น และถ้าใช้ค่าน้ำหนักจำนวนน้อยที่แตกต่างกันมากจะทำให้เกิด ความแตกต่าง ความขัดแย้ง
 5.  บริเวณว่าง (Space)  ส่วนที่เป็นพื้นที่ที่ปราศจากองค์ประกอบใด ๆ  ถ้าบริเวณที่ว่างมีน้อย  ความรู้สึกจากการรับจะรู้สึกแน่น แข่งขัน แย่งชิง  ฯลฯ   แต่ถ้าบริเวณว่างมีมากจะให้ความรู้สึกว่างเปล่า  เงียบเหงา  อ้างว้าง  หดหู่  ฯลฯ  แต่ถ้าบริเวณว่างมีเท่ากันจะให้ความรู้สึกพอดี  สมดุล  เสมอภาค  เป็นต้น

    6.  สี  (Color)   สีเป็นคุณลักษณะที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทตา โดยอาศัยแสงเป็นตัวส่องสว่าง สีแต่ละสีมีสมบัติเฉพาะตัวที่สามารถกระตุ้นเร้าให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันอกไป   เช่น   สีแดงย่อมกระตุ้นเร้าความรู้สึกให้เกิดแตกต่างไปจากสีขาวหรือสีดำทำให้ความรู้จากการรับรู้ไม่เหมือนสีเขียว เป็นต้น
                จากความแตกต่างในการรับรู้สีแต่ละสีนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในทางศิลปะ โดยแบ่งแนวทางการใช้สีออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การใช้สีบันทึกรูปแบบ และการใช้สีบันทึกความรู้สึก
                                1.  การใช้สีบันทึกรูปแบบ คือ การใช้สีเป็นสื่อวัสดุสร่างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ ตามตาเห็นหรือลอกเลียนแบบรูปสิ่งต่าง ๆ จากธรรมชาติ ให้ดูเหมือนจริงตามต้นฉบับ คือ ที่รูปร่างรูปทรง มีพื้นผิวมีระยะมิติ มีแสงเงา มีขนาดสัดส่วน มีสีสัน และอื่น ๆ ให้ปรากฏในภาพผลงานศิลปะที่ผู้ดู ดูแล้วเกิดความรู้สึกคล้ายกับการรับรู้รูปแบบจริงในธรรมชาติ
                                2. การใช้สีบันทึกความรู้สึก  คือ  การใช้สีเป็นสื่อวัสดุสร้างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ ตามอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งรูปแบบจากความรู้สึกนี้ อาจมีบางส่วนที่เป็นรูปแบบธรรมชาติตามพื้นฐาน  ประสบการณ์เดิม แต่ถูกต่อเติมดัดแปลงบิดผันไปตามจินตนาการ ทำให้รูปแบบไม่เหมือนจริงตามธรรมชาติ  ซึ่งก็คือรูปแบบลักษณะกึ่งนามธรรม ส่วนความรู้สึกอีกลักษณะ คือ ความรู้สึกที่เป็นนามธรรม เมื่อใช้สีบันทึกถ่ายทอด ก็จะไม่มีรูปแบบธรรมชาติใด ๆ ให้ปรากฏเห็นอยู่เลย ความสำคัญของสีที่ใช้บันทึก คือ เป็นสื่อแสดงแทนสิ่งต่าง ๆ แสดงเนื้อหาเรื่องราวต่าง ๆ โดยใช้สีเป็นสื่อสัญลักษณ์แทนทั้งหมด
                                  สรุปคือ  การใช้สีบันทึกรูปแบบจะคำนึงถึงภายนอก ได้แก่ ความเหมือนจริงของรูปแบบธรรมชาติ ส่วนการใช้สีบันทึกความรู้สึกจะคำนึงถึงภายใน คือ ความพึงพอใจ โดยไม่คำนึงถึงความเหมือนจริงของรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติแต่ประการใด   ผลงานการใช้สีบันทึกความรู้สึกมักจะมีลักษณะเป็นแบบกึ่งนามธรรมและนามธรรม
การใช้สีในเชิงสัญลักษณ์
               สีแดง มีความอบอุ่น ร้อนแรง เปรียบดังดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังแสดงถึง ความมีชีวิตชีวา ความรัก
ความปรารถนา เช่นดอกกุหลาบแดงวัน วาเลนไทน์  ในทางจราจรสีแดงเป็นเครื่องหมายประเภทห้าม แสดง ถึงสิ่งที่อันตราย  เป็นสีที่ต้องระวัง  เป็นสีของเลือด ในสมัยโรมัน สีของราชวงศ์เป็นสีแดง แสดงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์และอำนาจ
               สีเขียว แสดงถึงธรรมชาติสีเขียว ร่มเย็น มักใช้สื่อความหมายเกี่ยวกับการ อนุรักษ์ธรรมชาติ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การเกษตร   การเพาะปลูก   การเกิดใหม่      ฤดูใบไม้ผลิ การงอกงาม
               สีเหลือง   แสดงถึงความสดใส  ความเบิกบาน  โดยเรามักจะใช้ดอกไม้สีเหลือง ในการไปเยี่ยมผู้ป่วย และแสดงความรุ่งเรืองความมั่งคั่ง และฐานันดรศักดิ์ ในทางตะวันออกเป็นสีขอกษัตริย์  จักรพรรดิ์ของจีนใช้ฉลองพระองค์สีเหลือง  ในทางศาสนาแสดงความเจิดจ้า  ปัญญา  พุทธศาสนา  และยังหมายถึง  การเจ็บป่วย  โรคระบาด ความริษยา ทรยศ  หลอกลวง
               สีน้ำเงิน   แสดงถึงความเป็นสุภาพบุรุษ  มีความสุขุม หนักแน่น   และยังหมายถึง ความสูงศักดิ์  ในธงชาติไทย สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ในศาสนาคริตส์เป็นสีประจำตัวแม่พระ โดยทั่วไป สีน้ำเงินหมายถึงโลก  ซึ่งเราจะเรียกว่า โลกสีน้ำเงิน (Blue Planet)   เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่มองเห็นจากอวกาศโดยเห็นเป็นสีน้ำเงินสดใส เนื่องจากมีพื้นน้ำที่กว้างใหญ่
               สีม่วง   แสดงถึงพลัง  ความมีอำนาจ ในสมัยอียิปต์สีม่วงแดงเป็นสีของกษัตริย์  ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยโรมัน  นอกจากนี้  สีม่วงแดงยังเป็นสีชุดของพระสังฆราช  สีม่วงเป็นสีที่มีพลังหรือการมีพลังแอบแฝงอยู่ และเป็นสีแห่งความผูกพัน องค์การลูกเสือโลกก็ใช้สีม่วง ส่วนสีม่วงอ่อนมักหมายถึงความเศร้า ความผิดหวังจากความรัก
               สีฟ้า   แสดงถึงความสว่าง ความปลอดโปร่ง เปรียบเหมือนท้องฟ้า เป็นอิสระ เสรี เป็นสีขององค์การสหประชาชาติ เป็นสีของความสะอาด ปลอดภัย   สีขององค์การอาหารและยา (อย.) แสดงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างสะอาด แสดงถึงอิสรภาพ ที่สามารถโบยบินเป็นสีแห่ง ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่ไม่มีขอบเขต
               สีทอง   มักใช้แสดงถึง   คุณค่า  ราคา  สิ่งของหายาก  ความสำคัญ  ความสูงส่ง  สูงศักดิ์   ความศรัทธาสูงสุด  ในศาสนาพุทธ เป็นสีกายของพระพุทธรูป  ในงานจิตรกรรมเป็นสีกายของพระพุทธเจ้า พระมหากษัตริย์ หรือเป็นส่วนประกอบของเครื่องทรง  เจดีย์ต่าง ๆ มักเป็นสีทอง หรือ ขาว และเป็นเครื่องประกอบยศศักดิ์ ของกษัตริย์และขุนนาง
               สีดำ   แสดงถึงความมืด ความลึกลับ สิ้นหวัง ความตายเป็นที่สิ้นสุดของทุกสิ่ง   โดยที่สีทุกสี เมื่ออยู่ในความมืด  จะเห็นเป็นสีดำ  นอกจากนี้ยังหมายถึง ความชั่วร้าย ในคริสต์ศาสนาหมายถึงซาตาน อาถรรพ์เวทมนต์ มนต์ดำ ไสยศาสตร์ ความชิงชัง ความโหดร้าย  ทำลายล้าง  ความลุ่มหลงเมามัว  แต่ยังหมายถึงความอดทน กล้าหาญ เข้มแข็ง และเสียสละได้ด้วย
  7.  พื้นผิว (Texture)  พื้นผิวอาจเป็นเนื้อหยาบหรือเนื้อละเอียด  แข็งหรือหยาบ  นิ่มหรือเรียบ   พื้นผิวจะทำให้ผู้ดูเกิดความรู้สึก ไม่ว่าด้วยสายตาหรือร่างกาย  พื้นผิวเปรียบเสมือนตัวแทนของมวลภายในของวัตถุนั้น  จากลักษณะพื้นผิวที่ทำให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน   ทำให้มีการนำเอาลักษณะต่าง ๆ ของพื้นผิวเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างงานศิลปะ  เพื่อกระตุ้นเร้าผู้ดูเกิดความรู้สึกที่ต่างกัน  เมื่อได้สัมผัสภาพผลงานที่มีพื้นผิวที่ต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น